ยินดีต้อนรับเข้าสู่...แหล่งเรียนรู้....เรื่องหลักธรรมในการดำเนินชีวิต....โดย...นายวิรุณทอง พรมพักตร์....ครู P่เต้ย...blogger จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ ไม่มีเจตนาทางธุรกิจหรืการค้าใดๆ

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนทางสู่นิพพาน

การเจริญสติ
                    วิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ ผู้ปฏิบัติสามารถสัมผัสกับสติที่เป็นความรู้แจ้งภายในหรือญาณปัญญาได้ไว เพราะขบวนการฝึกฝนไม่เน้นพิธีกรรม เน้นการกำหนดรู้ เฝ้าดูทุกข์โดยตรง แม้การกำหนดรู้ก็ไม่ให้ทำแบบบังคับกดเกร็งเพ่งจ้อง ไม่เปิดโอกาสให้จิตอยู่กับนิวรณ์หรือเผลอมากจนเกินไป ที่สำคัญคือไม่จำกัดอิริยาบถในการฝึก ไม่นิยมนั่งหลับตาเพราะจะทำให้ง่วงง่ายหรือติดสงบจิตหลบไปยึดความสบายแล้วจะไม่เห็นความคิด หลังจากผ่านการฝึกไปแล้ว ๔ วันนิวรณ์จะจางคลาย ตัวรู้ที่เป็นสติจะแยกออกจากตัวคิดที่เป็นสังขารได้ค่อนข้างชัดเจน

          การเจริญสติแนวนี้ พูดง่าย ฟังง่าย แต่เข้าใจยาก เพราะความเข้าใจในวิธีการนี้เน้นองค์ความรู้ที่ได้แบบประจักษ์แจ้งผุดขึ้นจากจิต ชนิดที่มันเป็นเอง อันสืบเนื่องมาจากการที่ได้เจริญสติปัฏฐานสี่อย่างจริงจังต่อเนื่องและถูกต้อง เฝ้าดูอาการกายแคลื่อนไหว เฝ้าดูอาการใจที่นึกคิด” ฝึกสติให้ทำหน้าที่รู้ทุกข์โดยตรง ให้รู้เท่าทันแบบเป็นธรรมชาติ จนกระทั่งตัวรู้นี้ตื่นโพลง จิตใจสว่างรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง อายตนะเปิดกว้างจิตจะเห็นความจริงในจิต เข้าใจจิตเดิมแท้ของตัวเองที่ไม่ถูกปรุงแต่งว่ามันเป็นอย่างไร ที่มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วจะดับอย่างไร จะรู้เห็นเอง

         สติจะรู้เองโดยที่เราไม่ต้องกำหนดรู้ จิตมีสภาวะสงบแบบจิตตื่นไม่ใช่สงบแบบจิตหลับ เกิดการชำระจิตที่สั่งสมอารมณ์มาในอดีตที่เกิดเพราะโมหะ จิตเป็นสัมมาทิฏฐิ มีตาใน เข้าใจปัจจุบัน รู้เท่าทันอารมณ์ปรุงแต่งที่จักเกิดขึ้นในอนาคต จิตจะเกิดปัญญาปล่อยวางหรือคลายทุกข์ในขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นการสำรอกเลยทีเดียว เพราะตัวรู้มีความเร็วเท่าทันตัวคิดสังขารจึงไม่ถูกปรุงแต่ง อาการของไตรลักษณ์จะปรากฏชัดมาก คิดเท่าไรดับได้เท่านั้นเป็นปัจจุบันธรรมจริงๆ ตัวรู้จะกลายเป็นปัญญาวิราคะธรรมหน่ายต่อความหลงในการสร้างภพชาติในจิต เข้าใจอุปาทานแล้วเกิดการสลัดตัวเองออกจากอุปาทานนั้นอย่างรุนแรง จิตจะสว่างแจ่มแจ้ง มีความผ่องใส อิสระในวิหารธรรม คงความเป็นผู้รู้ได้เองโดยธรรมชาติ ไม่สงสัยในเรื่องราวของชีวิต. 
วิธีเจริญสติในอิริยาบถนั่ง
               การนั่งเจริญสติ จะนั่งแบบใดก็ได้ เช่น นั่งพับเพียบ นั่งเหยียดขา นั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้  แต่ในขณะที่ทำอยู่ ไม่ต้องหลับตา ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า การสร้างจังหวะ ซึ่งมีอยู่ 14 จังหวะ ดังแสดงตามภาพ
            พอครบทุกจังหวะ ก็ให้ทำต่อไปเรื่อยๆ และให้มีสติกำหนดรู้การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ให้มีสติกำหนดรู้ให้เป็นเสมือนลูกโซ่ที่เกี่ยวกันไปเรื่อยๆ อย่าให้ขาดตอน เมื่อเผลอคิดออกไปก็ให้กำหนดรู้กลับเข้ามาทำความรู้สึกอยู่ที่มือที่เคลื่อนไหวดังเดิม จนเป็นความรู้สึกตัวที่แจ่มชัดเป็นมหาสติที่สามารถกำหนดรู้ทันอาการของกายที่เคลื่อนไหวและจิตที่นึกคิดตามความเป็นจริง จนเกิดเป็นความรู้แจ้งในสัจจธรรมขึ้นมา.
                                                           วิธีเจริญสติในอิริยาบถเดิน

สำหรับ "การเดินจงกรม" ให้ก้าวเท้าตามปกติ  ไม่เร็วไม่ช้า ไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไป ให้พอดีกับที่เราเดิน เอามือไขว้หลัง หรือจับกันไว้ด้านหน้าก็ได้ ไม่ไกวแขวน เดินไป-กลับทางตรง ประมาณ10-12 ก้าวก็พอ ไม่ต้องใช้คำบริกรรมประกอบการเดิน สติระลึกรู้เท้าขณะสัมผัสพื้นทุกครั้งไปเรื่อยๆ รู้เป็นธรรมชาติ อย่าจดจ้อง ทำสลับกับการนั่งสร้างจังหวะ แต่ละครั้งใช้เวลาช้านานขึ้นอยู่กับอินทรีย์ของแต่ละบุคคล
ขณะปฏิบัติหากมีความคิดเกิดขึ้นก็ให้รู้แล้วปัดทิ้งแล้วกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวกับอิริยาบถที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ณ ขณะนั้นทันที เฝ้าดูเฝ้ารู้ ทำให้ต่อเนื่อง ทำให้มากๆ ทำจนถึงธรรม


(ขอขอบคุณ
 www.handmovevdo.in เอื้อเฟื้อคลิปวิดีโอ, สำนักพิมพ์ฟรีดอม บุ๊คส์ เอื้อเฟื้อภาพประกอบ)

ความหวังอันสูงสุด

นิพพาน
นิพพาน หมายถึง สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว ภาวะที่จิตมีความสงบสูงสุด เพราะไร้ทุกข์ ไร้สุข เป็นอิสรภาพสมบูรณ์ ความหยั่งรู้อย่างกระจ่างแจ่มแจ้งในกาย-จิต การที่ไร้ความปรุงแต่ง ความหลุดพ้นสภาพของโลก การหลุดพ้นทุกข์ของการมีโลก
คำว่า "นิพพาน" มาจากภาษาบาลี Nibbāna निब्बान ประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียก กิเลสตัณหา กล่าวโดยสรุป นิพพานคือการไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ในทางมหายานได้กล่าวไว้ใน ธรฺม-ธาตุ-ปรกฺฤตย-อวตาร-สูตฺร (入法界體性經) โดยอธิบายว่า ธรรมธาตุของนิพพานนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิด ไม่ดับ ไม่สกปรก ไม่บริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อน ไม่แปรปรวน ไม่มีผู้ใดดับได้ จึงไม่มีผู้ใดเกิด
พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้พรรณนาคุณของนิพพานว่า ปทมจฺจุตฺ มจฺจนฺตํ อสงฺขตมนุตฺตรํ นิพฺพานมีติ ภาสนฺติ วานมุตฺตามเหสโย "พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด ตรัสถึงสภาวะธรรมชาติหนึ่งที่เข้าถึงได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่จุติ พ้นจากขันธ์ 5 ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใดๆ เลย หาสภาวะอื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าสภาวธรรมนั้นคือพระนิพพาน"

คัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะกล่าวถึงนิพพาน 2 ประเภท คือ
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุยังมีอุปาทิเหลือ ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 กล่าวคือดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ

อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่ไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 กล่าวคือดับกิเลสไม่มีเบญจขัน

อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ

อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ
อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 1. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ 5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ 6. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ 7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง
มรรค มีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ

อริยสัจ 4 นี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

9 วิธี ทําดี ทำง่ายๆ เริ่มจากตัวเรา

9 วิธี ทําดี ทำง่ายๆ เริ่มจากตัวเรา
1.ตื่นเช้าขึ้นมาก็คิดแต่สิ่งดีๆ
ทันทีที่ตื่นนอน หากเราคิดถึงแต่สิ่งที่ดีที่งาม ก็จะทําให้จิตใจเราสดชื่น กระตือรือร้น พร้อมที่จะรับมือกับชีวิตประจําวันด้วยความรื่นเริง ไม่หงุดหงิดโมโห แค่นี้ นอกจากเราจะมีความสุขแล้ว คนรอบข้างเราก็มีความสุขไปด้วยถือว่าเป็นการทําบุญอย่างหนึ่ง
 2.ยิ้มแย้มแจ่มใส
ในแต่ละวัน หากเราจะรู้จักยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ว่าจะยิ้มกับคนรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม หน้าตาของเราก็จะดูเป็นมิตร ทําให้คนอยากเข้าใกล้ ถ้าเราเป็นพ่อแม่ยิ้มกับลูกก่อนไปทํางาน ลูกก็ดีใจ ลูกยิ้มกับพ่อพ่อแม่ พ่อแม่ก็สบายใจว่าต่างคนต่างไม่มีเรื่อง เดือดร้อนใจแน่ หรือหากมีก็กล้าจะมาปรึกษาหารือ หรือหากเป็นเจ้านาย ยิ้มกับลูกน้องๆ ก็รู้ว่าวันนี้นายอารมณ์ดี ทําให้ทํางานด้วยความมั่นใจไม่ต้องระแวงว่าจะถูก เรียกไปต่อว่าและถ้าเรียกก็ดูน่าจะมีเมตตา กว่าเวลาที่นายทําหน้ายักษ์
3.ทักทาย โอปราศรัย
คนบางคน นอกจากจะไม่ยิ้มกับใครแล้ว ยังชอบทําหน้าบึ้งตึงไม่คิดจะพูดจาทักทายใครด้วย ซึ่งถ้าเกิดทํางานด้านบริการ คนมาติดต่อคงรู้สึกเกร็งและกังวลตลอดว่าจะถูกเอ็ดตะโรเมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้น นอกจากยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว เราก็ควรจะเอื้อนเอ่ยวาจาทักทายผู้มารับบริการก่อน การทักทายปราศรัยกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้มาขอรับบริการเพื่อนฝูงคนรู้จัก ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือแม่แต่คนที่มาทํางานให้เรา เช่น แม่บ้าน ยาม ฯลฯ จะทําให้เขารู้สึกเป็นมิตร และอบอุ่นใจ ทําให้บรรยากาศในที่นั้นๆ ดีขึ้น
4.แบ่งปันน้ำใจไมตรี
สามารถทําได้ทุกที่และทุกเวลา เช่น ช่วยพ่อแม่จัดโต๊ะอาหารล้างถ้วยชาม ลุกให้เด็ก ผู้หญิงท้อง หรือคนแก่นั่งช่วยถือของหนักให้คนในรถเมล์ หยุดรถให้คนข้ามถนน หรือรถอื่นไปก่อน ช่วยแบ่งเบาภาระงาน ให้เพื่อนในที่ทํางาน เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ เป็นการทําบุญด้วยการลดความเห็นแก่ตัวของเราลงและทําให้เราได้รับมิตรไมตรีสนองตอบกลับมาด้วย
5.ปลุกปลอบให้กําลังใจ
ช่วยแก้ไขปัญหา หลายๆครั้งที่เพื่อนฝูงญาติมิตรอาจประสบปัญหาชีวิต และเกิดความทุกข์ใจแสนสาหัส สิ่งที่ดีที่สุดคือความเป็นมิตรและถ้อยคําที่ปลุกปลอบให้กําลังใจ คําพูดดีๆ ที่มาจากใจจะทําให้ผู้ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ รู้สึกดีขึ้นและมีพลังที่ต่อสู้ชีวิตต่อไปได้
6.ให้คําชมด้วยความนิยมยินดี
การกล่าวคําชื่นชมต่อผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ย่อมจะทําให้ผู้รับคําชมรู้สึกปลาบปลื้มยินดี และมีความสุขได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาทําสําเร็จ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและจริงใจด้วยดูอย่างตัวเราเองแค่วันไหน แต่งตัวสวย แล้วมีคนชม เราก็หน้าบานไปทั้งวันแล้ว เช่นเดียวกันคนทุกคนล้วนอยากได้การยอมรับและคําชมทั้งนั้น เพราะคําชมจะเป็นการเสริมเพิ่มกําลังใจให้ อยากทําดียิ่งๆ ขึ้นไป
7.แนะนําให้คําสอนที่ดี มีคุณค่า
ไม่ว่าจะเราจะอยู่ในสถานภาพใด เช่น เป็นลูก เป็นพ่อแม่ลูกน้อง เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมอาชีพ ฯลฯ หากเราจะมีเมตตา แนะนําในสิ่งที่ดี มีประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่นหรือสอนในสิ่งที่เราชํานาญให้แก่ผู้อื่น ก็จะเป็นการช่วยเกื้อกูลสังคมให้ดียิ่งขึ้น และผลก็จะย้อนมาสู่ตัวเราผู้ทําด้วย เช่น สอนงานให้ลูกน้องต่อไป เมื่อเขาทํางานเป็น เราก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก และเขาก็จะรู้สึกขอบคุณเรา แนะวิธีออกกําลังกายให้พ่อแม่ ท่านก็แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย เราก็สบายใจ หรือแม้แต่การแนะนําให้ความรู้ที่เรามี หรือทราบมาแก่คนไม่รู้จัก อย่างแนะนําหมอ ยาดีๆ   หรือธรรมะที่ดีแก่คนอื่น ทําให้เขาหายป่วยหรือรู้สึกดีขึ้น เขาก็จะอธิษฐานหรือให้พรเราทําให้เราพบแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต
8.การให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น
โดยทั่วไปคนเรามักจะให้อภัยตัวเองง่ายและมีข้อแก้ตัวให้ตนต่างๆ นานา แต่ถ้าผู้อื่นผิดพลาดแล้ว เรามักเห็นเป็นเรื่องใหญ่และตําหนิติเตียนไม่รู้จักแล้วจบ ดังนั้น เราจะต้องหัดมีเมตตารู้จักให้อภัยต่อผู้อื่นให้ง่าย เหมือนให้อภัยแก่ตัวเราเอง เพราะการให้อภัยจะทําให้เราไม่ผูกใจเจ็บ ไม่อาฆาตมาดร้าย ไม่ก่อศัตรู แต่ทําให้จิตใจเราสงบเย็นเป็นการฝึกจิตพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่จะนําไปสู่กุศลขั้นสูงอื่นๆ ต่อไป
9.ฝึกจิตให้สงบและสบาย
ด้วยการทําสมาธิหรือสวดมนต์ การทําสมาธิ ฟังดูเหมือนยากแต่จริงๆ เราทําได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือทําอะไรอยู่ เช่น กินข้าว  อาบน้ํา ทําการบ้าน ทํางานบ้าน อ่านหนังสือ อยู่ที่ทํางานหัวใจหลักคือให้เอาใจไปจดจ่อในสิ่งที่ทําเพียงอย่างเดียว จะทําให้เราทําทุกอย่างได้ดีขึ้นเพราะไม่พะวักพะวนคิดหรือทําหลายอย่างในเวลาเดียวกันอันทําให้ขาดสติและทุกๆ คืนก่อนนอน ก็ควรสวดมนต์ไหว้พระที่เรานับถือ โดยอาจเลือกบทสวดสั้นๆ ที่เราชอบ เสร็จแล้วก็อย่าลืมแผ่เมตตาให้กับตัวเราเอง และผู้อื่นตามสมควรที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเป็นการทําความดีที่ไม่ต้องใช้เงินเลยแต่สามารถปฏิบัติในชีวิตประจําวันของเราได้ โดยไม่ยากเย็นเข็ญใจจนเกินไปอีกทั้งปฏิบัติแล้วก็เป็นบุญกุศลที่จะเกื้อหนุนให้เราและคนรอบตัวมีความสุข เพราะ’บุญ’ ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ เครื่องชําระกาย ใจให้บริสุทธิ์เป็นการทําประโยชน์ให้แก่ตัวเราเองและผู้อื่น และยังช่วยลดกิเลส ความเศร้าหมองต่างๆ ได้
เริ่มทําแต่วันนี้เลยนะคะ เพราะมีคนบอกว่า  ’ความดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทําเอง

Credit :  วัดอินทราม

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ธรรมของผู้ครองเรือน

....สวัสดีครับทุกท่านวันนี้มีธรรมมะมาฝากครับ สำหรับท่านที่จะมีครอบครัว..ลองอ่านดูนะครับ....
ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ
ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
  1. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน
  2. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ
  3. ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่แพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเสส
  4. จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่างๆ
ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่
การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน

หลักธรรมของผู้เล่าเรียนศึกษา

หลักธรรมของผู้เล่าเรียนศึกษา

          คนที่เล่าเรียนศึกษา จะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนักค้นคว้าก็ตาม นอกจากจะพึงปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับคนที่จะประสบความสำเร็จ คือ จักร ๔และอิทธิบาท ๔แล้ว ยังมีหลักการที่ควรรู้ และหลักปฏิบัติที่ควรประพฤติอีก ดังต่อไปนี้
ก. รู้หลักบุพภาคของการศึกษา คือ รู้จักองค์ประกอบที่เป็น ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการ ดังนี้
          ๑. องค์ประกอบภายนอกที่ดี ได้แก่ มีกัลยาณมิตร หมายถึง รู้จักหาผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อน หนังสือ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางสังคมโดยทั่วไปที่ดี ที่เกื้อกูล ซึ่งจะชักจูง หรือกระตุ้นให้เกิดปัญญาได้ด้วยการฟัง การสนทนา ปรึกษา ซักถาม การอ่าน การค้นคว้า ตลอดจนการรู้จักเลือกใช้สื่อมวลชนให้เป็นประโยชน์
          ๒. องค์ประกอยภายในที่ดี ได้แก่ โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี รู้จักคิด หรือคิดเป็น คือ มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา สืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออกให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย จนเข้าถึงความจริง และแก้ปัญหาหรือทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้
          กล่าวโดยย่อว่า
          ข้อหนึ่ง รู้จักพึ่งพาให้ได้ประโยชน์จากคนและสิ่งที่แวดล้อม
          ข้อสอง รู้จักพึ่งตนเอง และทำตัวให้เป็นที่พึ่งของผู้อื่น
ข. มีหลักประกันของชีวิตที่พัฒนา เมื่อรู้หลักบุพภาคของการศึกษา ๒ อย่างแล้ว พึงนำมาปฏิบัติในชีวิตจริง พร้อมกับสร้างคุณสมบัติอื่นอีก ๕ ประการให้มีในตน รวมเป็นองค์ ๗ ที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบว่าเหมือนแสงอรุณที่เป็นบุพนิมิตแห่งอาทิตย์อุทัย เพราะเป็นคุณสมบัติต้นทุนที่เป็นหลักประกันว่า จะทำให้ก้าวหน้าไปในการศึกษา และชีวิตจะพัฒนาสู่ความดีงามและความสำเร็จที่สูงประเสริฐอย่างแน่นอน ดังต่อไปนี้
          ๑. แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี
          ๒. มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต
          ๓. มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์
          ๔. มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้
          ๕. ยึดถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตุและผล
          ๖. ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท
          ๗. ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง

ค. ทำตามหลักเสริมสร้างปัญญา ในทางปฏิบัติ อาจสร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่างข้างต้นนั้นได้ ด้วยการปฏิบัติตามหลัก วุฒิธรรม* (หลักการสร้างความเจริญงอกงามแห่งปัญญา) ๔ ประการ
          ๑. สัปปุริสสังเสวะ เสวนาผู้รู้ คือ รู้จักเลือกหาแหล่งวิชา คบหาท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณความดี มีภูมิธรรมภูมิปัญญาน่านับถือ
          ๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังดูคำสอน คือ เอาใจใส่สดับตรับฟังคำบรรยาย คำแนะนำสั่งสอน แสวงหาความรู้ ทั้งจากตัวบุคคลโดยตรง และจากหนังสือหรือสื่อมวลชน ตั้งใจเล่าเรียน ค้นคว้า หมั่นปรึกษาสอบถาม ให้เข้าถึงความรู้ที่จริงแท้
          ๓. โยนิโสมนสิการ คิดให้แยบคาย คือ รู้ เห็น ได้อ่าน ได้ฟังสิ่งใด ก็รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง โดยแยกแยะให้เห็นสภาวะและสืบสาวให้เห็นเหตุผลว่านั่นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น จะเกิดผลอะไรต่อไป มีข้อดี ข้อเสีย คุณโทษอย่างไร เป็นต้น
          ๔. ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ปฏิบัติให้ถูกหลัก นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนรับฟังและตริตรองเห็นชัดแล้ว ไปใช้หรือปฏิบัติหรือลงมือทำ ให้ถูกต้องตามหลักตามความมุ่งหมาย ให้หลักย่อยสอดคล้องกับหลักใหญ่ ข้อปฏิบัติย่อยสอดคล้องกับจุดหมายใหญ่ ปฏิบัติธรรมอย่างรู้เป้าหมาย เช่น สันโดษเพื่อเกื้อหนุนการงาน ไม่ใช่สันโดษกลายเป็นเกียจคร้าน เป็นต้น
ง. ศึกษาให้เป็นพหูสูต คือ จะศึกษาเล่าเรียนอะไร ก็ทำตนให้เป็นพหูสูตในด้านนั้น ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แจ่มแจ้งชัดเจนถึงขั้นครบ องค์คุณของพหูสูต (ผู้ได้เรียนมาก หรือผู้คงแก่เรียน)  ประการ คือ
          ๑. พหุสฺสุตา ฟังมาก คือ เล่าเรียน สดับฟัง รู้เห็น อ่าน สั่งสมความรู้ในด้านนั้นไว้ให้มากมายกว้างขวาง
          ๒. ธตา จำได้ คือ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำเรื่องราวหรือเนื้อหาสาระไว้ได้แม่นยำ
          ๓. วจสา ปริจิตา คล่องปาก คือ ท่องบ่น หรือใช้พูดอยู่เสมอ จนแคล่วคล่องจัดเจน ใครสอบถามก็พูดชี้แจงแถลงได้
          ๔. มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ คือ ใส่ใจนึกคิดจนเจนใจ นึกถึงครั้งใด ก็ปรากฏเนื้อความสว่างชัดเจน มองเห็นโล่งตลอดไปทั้งเรื่อง
          ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี คือ เข้าใจความหมายและเหตุผลแจ่มแจ้งลึกซึ้ง รู้ที่ไปที่มา เหตุผล และความสัมพันธ์ของเนื้อความและรายละเอียดต่างๆ ทั้งภายในเรื่องนั้นเอง และที่เกี่ยวโยงกับเรื่องอื่นๆ ในสายวิชาหรือทฤษฎีนั้นปรุโปร่งตลอดสาย

จ. เคารพผู้จุดประทีปปัญญา ในด้านความสัมพันธ์กับครูอาจารย์ พึงแสดงคารวะนับถือ ตามหลักปฏิบัติในเรื่องทิศ ๖ ข้อว่าด้วย ทิศเบื้องขวา* ดังนี้
          ๑. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
          ๒. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น
          ๓. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา
          ๔. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
          ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หลักธรรมกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

....เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมีดังนี้....

1. เว้นจากการทำชั่วและมุ่งทำความดี ทุกศาสนาสอนให้ละเว้นการกระทำความชั่วและทำแต่ความดีทั้งสิ้น เพื่อให้ศาสนิกชนทั้งหลายเป็นคนดีนั่นเอง ถึงแม้แนวทางปฏิบัติของแต่ละศาสนาอาจมีข้อแตกต่างกันไป เช่น พระพุทธศาสนามีศีล คือ ข้อห้าม และธรรมะ คือหลักสำหรับเป็นข้อปฏิบัติ ศาสนาคริสต์มีบัญญัติ 10ประการ ศาสนาอิสลามสอนให้ยึดหลักศรัทธา 6 ประการ และหลักปฏิบัติ 5 ประการ เป็นต้น
2. ความรัก ความเมตตา แต่ละศาสนากล่าวถึงความรักความเมตตาไว้มากมายทั้งหลักธรรมคำสอนในคัมภีร์ และคำสอนแทรกไว้ในแต่ละตอนของคำสอนนั้นๆ บางครั้งก็มีคำสอนทำนองภาษิตเตือนใจ เช่น พระพุทธศาสนามีคติธรรมที่ยึดถือ เช่น เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลกและพึงเอาชนะความชั่วด้วยความดี ในศาสนาคริสต์พระเยซูทรงสอนว่า จงรักพระเจ้าอย่างสุดใจสุดความคิด และสุดกำลัง และจงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง ศาสนาอิสลาม ศาสดามูฮัมหมัดก็ทรงกล่าว ผู้ใดขาดความเมตตาเพื่อนมนุษย์ผู้นั้นไม่ได้รับเมตตาจิตเช่นกัน ดังนั้นทุกศาสนาจึงเน้นเรื่องความรัก ความเมตตา เพราะหากมนุษย์ทุกคนมีความรักความเมตตาอยู่ในใจแล้ว ก็จะไม่มีการเบียดเบียนกัน ต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
3. การเสียสละหรือการสังคมสงเคราะห์ เมื่อมนุษย์มีความรักความเมตตาแล้ว ก็จะมีความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และให้การสงเคราะห์ซึงกันและกัน ศาสนาต่างๆ จึงสอนให้สงเคราะห์กันด้วยความเมตตากรุณาไม่ใช่หวังผลตอบแทน แต่เน้นการเสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจ เช่น พระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่เรียกว่า สังคหวัตถุ4 ซึ่งได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา ศาสนาอิสลามได้มีการกำหนดหลักการให้ชาวมุสลิมมีการบริจาคทาน (ซากาด) แก่ผู้ยากจนหรือสมควรได้รับความช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 2.5 ของรายได้ ศาสนาคริสต์จะเน้นให้มนุษย์เสียสละ ให้อภัย เอื้อเฟื้อ โดยไม่หวังผลตอบแทน
4. ความอุตสาหะและพัฒนาตนเอง ศาสนาต่างๆ สอนให้คนมีความเพียร อดทน ขยันขันแข็ง และมีความอุตสาหะ มีความพยายาม อันจะช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จและรู้จักพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เช่น พระพุทธศาสนาสอนให้คนเคารพในการศึกษา สรรเสริญความเจริญก้าวหน้า มีหลักคำสอน อิทธิบาท 4 อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีคติเตือนใจ เช่น ความเพียรอยู่ในความสำเร็จอยู่ที่นั่น ศาสนาอิสลามสอนให้คนใฝ่หาความรู้ตั้งแต่เกิดจนตายและมีคำสอนว่า ผู้ใดมีความพยายาม ผู้นั้นจะได้รับผลสำเร็จ หรือคำสอนในศาสนาคริสต์ก็มีกล่าวไว้ว่า เราทั้งหลายภูมิใจความยากลำบาก เพราะรู้ว่าความยากลำบากนั้นทำให้เกิดความอดทนและความอดทนนั้นทำให้เกิดอุปนิสัยที่ดี เป็นต้น
5. ความยุติธรรม คำสอนทุกศาสนาเน้นเรื่องความยุติธรรม เพราะการที่สังคมจะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุขนั้น จำเป็นต้องมีหลักแห่งความยุติธรรมเป็นแกนกลาง พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้อยู่ภายใต้อคติ 4 ประการ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ศาสนาคริสต์มุ่งเน้นในการรักษาความยุติธรรมในสังคมว่า เจ้าทั้งหลายอย่าเห็นแก่หน้าผู้ใดในการพิพากษา จงฟังท่าน ผู้ใหญ่ ผู้น้อย เหมือนกัน เจ้าทั้งหลายอย่ากลัวผู้ใด เพราะการพิพากษานั้นเป็นการตัดสินของพระเจ้า หรือศาสนาอิสลามสอนให้คำรงความยุติธรรม แม้จะกระทบกระเทือนต่อตัวเจ้าของ ต่อมารดา บิดาหรือญาติ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนมีหรือคนจน และอย่าถือตามอารมณ์ใคร่ในการรักษาความยุติธรรม เป็นต้น
หลักธรรมที่พึ่งนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน